PhillipCapital PhillipCapital Your Partner in Investment

poems poems

ศูนย์การเรียนรู้
5 เครื่องมือ ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ


5 เครื่องมือ ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ
 

หลายปีที่ผ่านมา เวลา Mr.Phillip คุยกับเพื่อน ๆ และแนะนำให้วางแผนเกษียณอายุ จะได้รับคำตอบคล้ายๆ กันว่า “อีกตั้งหลายปีกว่าจะเกษียณ ทำไมต้องรีบวางแผนเกษียณด้วย รอให้อายุสัก 50 ปีก่อนค่อยวางแผนเกษียณอายุก็ได้” หนักเข้า มีคนหนึ่งเงินเดือนหลักแสน แต่ไม่บริหาร ไปกู้เงินทั้งในและนอกระบบเต็มไปหมด จนวันที่เขาเกษียณอายุ ต้องเอาเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้มาทั้งหมดไปใช้หนี้ แถมยังใช้หนี้ได้ไม่หมดอีกด้วย แทนที่เกษียณมาจะใช้ชีวิตให้มีความสุข แบบ Slow Life กลับต้องขวนขวายหาเงินมาใช้หนี้ที่เหลือ แต่ Mr.Phillip เชื่อว่าเพื่อนๆ นักลงทุน คงเริ่มมีการวางแผนเกษียณกันเอาไว้บ้างแล้ว วันนี้เลยอยากพาเพื่อน ๆ ก้าวไปอีกขั้น และมาเรียนรู้ผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะกับการวางแผนเกษียณกันสัก 5 อย่างครับ
 
1. ออมหุ้น – ออมกองทุน

ถ้าเพื่อนๆ สนใจในการวางแผนเกษียณอายุ โดยไม่กังวลเรื่องภาษีเงินได้หรือมีการวางแผนภาษีไว้ดีแล้ว อาจเลือกการออมหุ้นหรือออมกองทุนได้ โดยเน้นเลือกหุ้นหรือกองทุนที่ดี แล้วทำการทยอยซื้อสม่ำเสมอด้วยเงินเท่าๆ กัน หรือที่เรียกว่า Dollar Cost Average (DCA) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะการลงทุน และได้ราคาหุ้นหรือกองทุนในค่าเฉลี่ย สำหรับการลงทุนระยะยาวเพื่อเกษียณ ควรเลือกประเภทสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตระยะยาวด้วยนะคะ อ้อ! แต่ไม่ใช่ DCA ไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะถ้าเกิดช่วงที่เราเกษียณอายุแล้วเกิดเหตุการณ์สภาวะตลาดผันผวนหนักทำให้หุ้นลงพอดี ผลตอบแทนเราก็จะลดลงตามไปด้วยครับ เอาเป็นว่า...DCA ทำได้ แต่ต้องนานพอ ซึ่งก็สอดคล้องกับการออมเพื่อการเกษียณอายุพอดีเลยครับ
 
 
2. Super Saving Fund (SSF)  
 
SSF เป็นกองทุนรวมที่มีสิทธิทางภาษี สามารถเลือกลงทุนได้ทรัพย์สินที่หลากหลาย ตั้งแต่ตราสารเงิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ โดยเพื่อนๆ สามารถซื้อได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องถืออย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ซื้อครับ ข้อดีของการใช้ SSF ออมเพื่อเกษียณอายุ คือสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี ส่วนข้อเสียคือ เมื่อครบ 10 ปี แทนที่เราจะเอาเงินไปลงทุนต่อ เราอาจเอาเงินไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นแทน ทำให้เก็บเงินเกษียณได้ต่ำกว่าเป้าหมายครับ

   
3. Retirement Mutual Fund (RMF)  
 
RMF มีลักษณะคล้ายๆ SSF เลย แต่ต้องถือยาวนานกว่าครับ คือต้องถือไปจนอายุ 55 ปี ซึ่งถ้าใครถอนก่อน จะมีโทษในลักษณะการคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนมา หรือการเสียภาษีในเงินส่วน Capital Gain ซึ่งไม่ขอเล่าในรายละเอียดนะครับ โดย RMF ต้องถือไปจนอายุอย่างน้อย 55 ปี บริบูรณ์ครับ เว้นแต่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ
   
สำหรับใครที่มองการซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อเกษียณและลดหย่อนภาษีด้วย ให้ระวังกันสักนิดนะครับ เพราะการซื้อสินค้าหลายตัวเพื่อลดหย่อนภาษีจะมีการกำหนดเพดานเอาไว้ ว่าซื้อได้ร้อยละเท่าไรของรายได้ ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังกันในรายละเอียดของแต่ละตัวต่อไปครับ

 
4. ประกันบำนาญ  
 
ระหว่างคนที่มีเงินก้อนกับคนที่รู้ว่ามีเงินเข้าทุกเดือน คิดว่าคนไหนมีความสุขในการใช้เงินมากกว่ากันครับ หลายคนคงตอบว่า คนที่มีเงินเข้าทุกเดือน แต่สำหรับ Mr.Phillip น่าจะเป็นคนที่มีทั้งเงินก้อนและเงินเข้าทุกเดือนครับ เพื่อนๆ น่าจะเก็บเงินก้อนกันมามากแล้ว เลยอยากแนะนำให้เก็บในผลิตภัณฑ์ที่ให้เงินเป็นงวดๆ อย่างประกันบำนาญบ้างครับ
   
หลักของประกันบำนาญ คือ การชำระเบี้ย จนถึงอายุที่กำหนดไว้ตามสัญญา และหลังจากอายุเกษียณประกันบำนาญจะจ่ายเงินให้เราเป็นงวดๆ เช่น ชำระเบี้ยถึงอายุ 60 ปี หลังจากนั้น เริ่มรับบำนาญจนถึงอายุ 85 ปี อะไรแบบนี้ครับ ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ทำไว้นะครับ มีหลายแบบ หลายอายุเลยทีเดียว สำหรับทางเลือกการออมอันนี้ นอกจากได้บำนาญแล้วยังลดหย่อนภาษีได้อีกต่างหาก

 
5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข)  
 
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ Mr.Phillip ขอบอกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นกองทุนที่มีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างเป็นเอกชน ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ นายจ้างเป็นราชการ ส่วนแนวคิดอื่นๆ จะคล้ายคลึงกันครับ กองทุนทั้งสองนี้ เป็นเครื่องมือการออมและการลงทุนที่ทรงประสิทธิภาพมากๆ สำหรับการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าเป็นสมาชิกกองทุน นายจ้างจะสมทบเงินให้เราด้วยครับ
   
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อนๆ สามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน แล้วนายจ้างสมทบ 2-15% ขึ้นกับเงื่อนไขของนายจ้าง ส่วน กบข เพื่อนๆ สามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 3-15% ของเงินเดือน โดยรัฐจะสมทบให้ 3% ของเงินเดือนครับ แต่ในส่วนของ กบข จะมีเรื่องเงินชดเชยที่รัฐให้เพิ่มสำหรับคนที่ได้บำนาญน้อยลงด้วย แต่เอาเป็นว่าวันนี้เล่าเฉพาะส่วนของเงินสมทบก่อนนะครับ หากมีโอกาศจะมาเล่าให้ละเอียดอีกที
 
ซึ่งหากจะเปรียบการที่เราเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็เหมือนนายจ้างมาช่วยเราเก็บเงินเฉยๆ ซะอย่างงั้นเลยครับ ดีขนาดนี้ รีบสมัครเป็นสมาชิกกันนะครับ

สุดท้าย ขอย้ำกันสักนิดว่า การเกษียณอายุต้องวางแผนกันตั้งแต่เนิ่นๆ นะครับ ยิ่งวางแผนเร็ว ยิ่งเก็บเงินง่าย ยิ่งวางแผนเร็วยิ่งออมเงินต่อเดือนน้อย อย่าปล่อยให้อายุมากไปจนออมเงินเกษียณกันไม่ไหวนะครับ หากสนใจวางแผนเก็บเงินเพื่อเกษียณ ที่บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป มีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกพร้อมคำแนะนำที่เป็นกลางโดยมืออาชีพ สนใจเริ่มต้นวันนี้ แจ้งความประสงค์ให้เราติดต่อกลับที่ : https://forms.gle/mvFtRowi1ZJ7683c8