PhillipCapital PhillipCapital Your Partner in Investment

poems poems

ศูนย์การเรียนรู้
เบี้ยประกันอะไรบ้าง ใช้ลดหย่อนภาษีได้?


ใกล้จะสิ้นปีแล้ว มาเช็คกันว่า “เบี้ยประกัน” อะไรบ้าง ใช้ลดหย่อนภาษีได้?
 

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว เชื่อว่าเพื่อน ๆ อาจกำลังวางแผนลดหย่อนภาษี โดยประกันเป็นตัวเลือกที่ดีในการลดหย่อนภาษี แต่เอ...หลายคนคงมีคำถามว่าประกันอะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง ซื้อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลดหย่อนภาษีไหม แล้วประกันต้องมีอายุกี่ปี ผิดเงื่อนไขแล้วเป็นอย่างไร ดังนั้น วันนี้ Mr.Phillip เลยอยากขออนุญาตแบ่งปันข้อมูลเรื่องการลดหย่อนภาษีโดยใช้ประกันชีวิตให้กับเพื่อน ๆ กัน
 
ประกันชีวิต

Mr.Phillip เข้าใจว่าเพื่อน ๆ คงทราบว่าเบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทกันอยู่แล้ว แต่ ผมขอเพิ่มเติมข้อมูลให้เพื่อนๆ อีกสักนิดว่า ประกันชีวิตที่เพื่อน ๆ ใช้ลดหย่อนภาษี ต้องมีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไปนะครับ และประกันสะสมทรัพย์ที่มีเงินคืนเกินกว่าเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดก็ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ครับ
 
ประกันชีวิตสามี-ภรรยา

ประกันชีวิตของสามี-ภรรยาสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท และที่สำคัญคู่สมรสต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาทครับ
 
ประกันสุขภาพตัวเอง

เพื่อน ๆ ที่เห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 25,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกาศอธิบดีสรรพากร ฉบับที่ 315 กำหนดให้ประกันสุขภาพที่ลดหย่อนได้ ได้แก่
  • ประกันคุ้มครองการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ การชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • การประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันโรคร้ายแรง
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว

ประกันบำนาญ

ในกรณีที่เพื่อน ๆ ใช้ประกันบำนาญในการวางแผนภาษีและเกษียณอายุ เพื่อน ๆ สามารถนำเบี้ยประกันบำนาญมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ใช้สิทธิประกันชีวิตในการลดหย่อนภาษี อาจใช้ประกันบำนาญแทนสิทธิในการประกันชีวิตได้อีก 100,000 บาท รวมเป็นสิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทครับ ทั้งนี้ การซื้อประกันบำนาญต้องคำนวณร่วมกับผลิตภัณฑ์ในหมวดเกษียณอายุ เช่น RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทครับ
 
ประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่

สำหรับเพื่อน ๆ ที่เป็นลูกกตัญญูมีการชำระเบี้ยประกันให้กับคุณพ่อคุณแม่ ความดีนี้ได้รับการเห็นใจโดยสรรพากร และให้ลูกกตัญญูอย่างพวกเราสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักค่าหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถจ่ายเบี้ยประกันให้กับพ่อตาแม่ยายได้เช่นกัน ถ้าหากคู่สมรสไม่มีรายได้ กรณีที่มีพี่น้องร่วมจ่าย เงินลดหย่อน 15,000 บาทนี้ จะต้องหารกันระหว่างพี่น้องนะครับ ทั้งนี้ บิดามารดาต้องไม่เป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยไม่จำกัดอายุพ่อแม่ครับ
 
ข้อควรระวัง!!!

การซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีต้องระมัดระวังการผิดเงื่อนไขสรรพากรด้วย เนื่องจากการผิดเงื่อนไขจะทำให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีไปพร้อมเงินเพิ่มให้กับสรรพากรครับ
 
หวังว่าจะพอเป็นประโยชน์ในการเลือกวางแผนลดหย่อนภาษีของเพื่อน ๆ ที่ติดตาม Mr.Phillip ได้นะครับ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่มีแผนซื้อประกัน เดี๋ยวคราวหน้าเรามาดูเงื่อนไขของกองทุนที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้กันครับ

หากเพื่อนๆ ต้องการคนช่วยแนะนำการวางแผนลดหย่อนภาษี วางแผนการลงทุน ใช้บริการกับหลักทรัพย์ฟิลลิป ได้นะครับ แจ้งเราให้ติดต่อกลับที่ : https://forms.gle/x9d91ZGSP8LExjWAA
 
สนใจอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม : http://www.poems.in.th/learning_detail.aspx?id=353