PhillipCapital PhillipCapital Your Partner in Investment

poems poems

บริการบริษัท
มารู้จักบัญชีเครดิตบาลานซ์

Credit Balance หรือ Margin คือการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ โดยต้องวางเงินหรือหลักทรัพย์ ตามที่กำหนดไว้กับบริษัทนายหน้า 
ก่อนที่จะทำการซื้อขาย 

การซื้อขายหลักทรัพย์ใน Credit Balance จะมีความสะดวกในเรื่องการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ คือ โดยปกติเมื่อลูกค้าซื้อหุ้นในวันนี้ ลูกค้ามีหน้าที่จะต้องชำระราคาในอีก 2 วันทำการถัดไป หากลูกค้าซื้อในบัญชี Credit Balance บริษัทจะทำหน้าที่ในการจัดการเรื่องการเงินให้ โดยชำระค่าซื้อซึ่งตัดจากบัญชี Credit Balance ที่ลูกค้ามีอยู่ ซึ่งเป็นเงินของนักลงทุนเองก่อน และ บริษัทจะให้กู้ยืมในส่วนที่ขาด หากเงินหรือหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นประกัน มีจำนวนสูงกว่าค่าซื้อหลักทรัพย์ ภาระการกู้ยืมก็จะยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งลูกค้ายังจะได้รับดอกเบี้ย จากส่วนที่ยังคงเหลือในบัญชี Credit Balance ด้วย

ตัวอย่างเช่น

ลูกค้าฝากเงิน 100,000 บาท และต้องการซื้อหุ้น A ซึ่งมี Initial Margin ที่ 50% หมายความว่า ลูกค้าจะมีวงเงินในการซื้อหุ้น A ได้ 200,000 บาท โดย เป็นส่วนเงินของลูกค้าเอง 100,000 บาท และ กู้ยืมเงินจากบริษัท 100,000 บาท โดยมีการคำนวณดอกเบี้ย และ หุ้นนั้นๆ ต้องจำนำเป็นประกันไว้กับบริษัท แต่หากว่า ลูกค้าฝากหลักทรัพย์แทนการฝากเงิน ยอดเงินกู้ยืมในการซื้อหุ้น A จะเป็น 200,000 บาท

หลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ซื้อเครดิต
เนื่องจากหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แต่ละตัว มีปัจจัยพื้นฐาน และ ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องแตกต่างกัน ดังนั้น บริษัทที่ให้กู้ยืมเงิน จะมีการกำหนดหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ซื้อขายในบัญชี Credit Balance รวมถึงกำหนดเกรดของหลักทรัพย์ และ อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นที่เหมาะสม สำหรับแต่ละหลักทรัพย์ (Multiple Margin Rate) โดยจะมีการประกาศให้ทราบอย่างน้อย เดือนละหนึ่งครั้ง

การคำนวณดอกเบี้ยในบัญชีเครดิตบาลานซ์
การคำนวณดอกเบี้ย จะคิดจากยอดคงเหลือในบัญชีแต่ละสิ้นวัน ตามอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทให้กู้ยืมเงิน กำหนด ทั้งนี้การรับ หรือ ชำระดอกเบี้ย   จะใช้วิธี update จากบัญชี Credit Balance ของลูกค้าในตอนสิ้นเดือน พร้อมทั้งส่ง Statement ให้ลูกค้าทราบทุกเดือน
  1. หากยอดคงเหลือในบัญชีเป็นเงินสด ลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยรับ
  2. หากยอดคงเหลือในบัญชีเป็นยอดกู้ยืมเพื่อซื้อหุ้น (Margin)ลูกค้าจะต้องเสียดอกเบี้ยจ่าย

ข้อควรคำนึงในการใช้เครดิตบาลานซ์
  1. การลงทุนในบัญชี Credit Balance ควรทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีทั้งโอกาสกำไรและขาดทุน ตัวอย่างเช่นถ้านักลงทุนมีเงินสด 100 บาท แล้วนำไปลงทุนซื้อหุ้นในบัญชีเงินสด เมื่อหุ้นราคาลดลง 20% แล้วถ้าขายหุ้นออกไปก็ยังมีเงินสดเหลืออีก 80 บาท แต่ถ้าซื้อด้วย Credit Balance นักลงทุนจะสามารถซื้อหุ้นได้ 200 บาท (กรณีที่อัตรามาร์จิ้น 50%) โดยหุ้นที่ซื้อจะถูกนำมาเป็นประกันการกู้ยืม เมื่อราคาหุ้นลง 20% เหลือ 160 บาท ถ้าขายออกไปก็จะเพียงพอแค่ชำระหนี้ 100 บาท และเหลือเงินอีก 60 บาท เท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าราคาหุ้นสูงขึ้น 20% ถ้าซื้อด้วยบัญชีเงินสด หุ้นจะมีราคา 120 บาท ถ้าขายจะได้กำไร 20 บาทแต่ถ้าใช้ Credit Balance เมื่อซื้อหุ้น 200 บาท แล้วราคาหุ้นสูงขึ้น 20% เป็น 240 บาท ก็จะทำให้มีกำไร 40 บาท ซึ่งเป็นอัตราทวีคูณ เมื่อเทียบกับการใช้ระบบเงินสด
    (แต่ต้องชำระดอกเบี้ยจ่ายด้วย) ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีการวางแผนการลงทุนให้เหมาะสม
  2. ต้นทุนเงินกู้ หรือ ดอกเบี้ย ซึ่งอาจมีการเคลื่อนไหวขึ้นลง อันจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน ฉะนั้นนักลงทุนต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่ถูกต้อง และในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน มาทดแทนความเสี่ยงของต้นทุน
  3. เงื่อนไขเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ซื้อขายในบัญชี Credit Balance และอัตรามาร์จิ้นของแต่ละหลักทรัพย์ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุน จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจด้วย 
  4. การลงทุนในระบบเครดิตบาลานซ์ จะมีข้อกำหนดในเรื่องการดำรงสัดส่วนระหว่าง หลักประกันกับเงินกู้ยืมให้อยู่ในอัตราที่กำหนด ซึ่งนักลงทุนอาจจะถูกเรียก ให้นำหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันเพิ่ม หรือ อาจถูกบังคับขายหลักประกัน หากมูลค่าหลักประกันลดลงจนถึงระดับที่กำหนด ดังนั้นนักลงทุนต้องยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าว และ ดูแล Portfolio ของตนเองอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นหากนักลงทุนเข้าใจ และ สามารถกำหนดยุทธวิธี จังหวะ และ เวลาในการลงทุนที่เหมาะสมได้
Credit Balance ก็จะเป็นเครื่องมือที่เพื่มศักยภาพการลงทุนในหลักทรัพย์ ให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี